เกี่ยวกับเรา
อี-บิสสิเนส เครื่องมือสร้าง CEM กลยุทธ์เอื้อ ภูมิดินฯ เข้าถึงผู้บริโภค
อี-บิสสิเนส เครื่องมือสร้าง CEM กลยุทธ์เอื้อ ภูมิดินฯ เข้าถึงผู้บริโภค
ภูมิดิน เนเชอรัล โปรดักส์
แจ้งเกิด "น้ำมันมะพร้าวบริสุทธ์"
ผ่านกลยุทธ์การให้ข้อมูลสร้างการรับรู้อรรถประโยชน์จากผลิตผลในประเทศผ่านสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบ
กระตุ้นผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมตอบรับและเชื่อมั่นคุณภาพผลิตภัณฑ์
วางแผนหนีคู่แข่งผ่านการพัฒนาสินค้านานาชนิดที่มีวัตถุดิบหลักเดียวกัน
ภาวะการณ์ทางการตลาดที่มีผลิตภัณฑ์นานาชนิดพร้อมสนองตอบตามความต้องการในส่วนลึกที่ผู้บริโภคพึงปรารถนาอยู่ในใจ
"ตราสินค้า" (Brand)
ทั้งหลายต่างพยายามหากลวิธีที่จะครอบครองความปรารถนานั้นให้ได้
ด้วยการนำเสนอจุดต่างในตัวสินค้าหรือวิธีการนำเสนอ
ในขณะที่ต้นทุนสร้างความต่างในตัวผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ต้องใช้งบประมาณการลงทุนสูงทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว
แต่ทว่ายังไม่อาจทิ้งห่างบรรดาคู่แข่งได้มากนัก
ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเอื้อโอกาสให้เท่าทันกัน
มิติการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในใจผู้บริโภค
ด้วยการสร้างแนวร่วมผ่านประสบการณ์ระหว่างผู้บริโภคกับผลิตภัณฑ์
จึงเป็นสิ่งที่ "ตราสินค้าชั้นนำ" นิยมเลือกใช้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า
ประสบการณ์ที่ดีในการใช้สินค้า
เพิ่มโอกาสขยายส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้นและมีโอกาสที่จะมีชัยชนะเหนือคู่แข่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่สามารถครองใจผู้บริโภคไว้ได้
การจัดการกับความคาดหมายที่อยู่ในใจผู้บริโภคโดยมีเป้าประสงค์สร้างการรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้บริโภค
(Customer Experience Management ) บางนิยาม (Customer Expectation
Management) หรือที่เรียกกันว่า "CEM"
นักการตลาดมองปัจจัยที่เอื้อให้
"ตราสินค้า"
จัดการกับการบริหารประสบการณ์ลูกค้าและการสานความฝันของลูกค้าได้ประสิทธิผลต้องได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรเป็นแรงผลักดัน
การที่เจ้าของเป็นผู้ดำเนินการเอง
เท่ากับข้อได้เปรียบของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม
ที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคถ่ายทอดประสบการณ์และเกิดการพัฒนาประสบการณ์ร่วมกัน
โดยเฉพาะในขั้นต้นๆ ของความสัมพันธ์ ตั้งแต่ก่อนการตัดสินใจซื้อ
ระหว่างซื้อ และหลังเกิดพฤติกรรมการใช้สินค้า
ทั้งนี้เพราะว่าลูกค้าใหม่เป็นผู้แจ้งข้อบกพร่องให้บริษัทมากที่สุด
ภูมิดินฯ สร้างโอกาส "มะพร้าวไทย"
ผ่านประสบการณ์ "สัมผัสตรง"
นางปริยากร เรืองเจริญ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็น (Extra Virgin Coconut Oil) ภายใต้ชื่อ "ภูมิดิน"
เปิดเผยว่าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ
น้ำมันมะพร้าวยังไม่เป็นที่นิยมในตลาดเมืองไทย
ทั้งยังมีข้อมูลไม่แพร่หลายเช่นในปัจจุบัน
แต่เมื่อตนเองคิดที่จะหันมาประกอบธุรกิจแทนการเป็นบุคลากรสายอาชีพการเงินในฝ่ายวิจัยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ไปติดต่อเพื่อขอข้อมูล
ทั้งด้านการวิจัย และการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมะพร้าว
แต่ความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนรุ่นก่อน
จากประสบการณ์ตรงที่ตนเองได้สัมผัสขณะตั้งครรภ์
ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ให้ใช้น้ำมันมะพร้าวทาท้องไม่ให้แตกลาย
ประสบการณ์ครั้งนั้น
ทำให้เห็นคุณสมบัติพิเศษของน้ำมันมะพร้าว
ที่นอกจากจะช่วยให้ท้องไม่ลายแล้วยังช่วยให้สตรีหลังคลอดมีผิวพรรณสดใส
ไม่หมองคล้ำ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะหันมาประกอบเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง
แต่ต้องลบข้อด้อยของน้ำมันมะพร้าวในความรู้สึกของคนทั่วไปให้ได้นั่นคือ
กลิ่นหืน
แหล่งค้นคว้าที่สามารถช่วยให้มีธุรกิจในวันนี้ได้ คือ
อินเทอร์เน็ต ทำให้รู้ว่าน้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil)
เป็นส่วนผสมที่มีอยู่ในเครื่องสำอางและได้รับความนิยมในต่างประเทศ
โดยมีแหล่งผลิตในประเทศฟิลิปปินส์ แต่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้จำหน่าย
ขณะที่ยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย
"เข้าไปศึกษาวิธีการทำผ่านเวบไซต์
และสนทนา(Chat) ผู้ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตได้ ณ
ขณะนั้นในเมืองไทยไม่มีใครที่จะให้ข้อมูลเราได้เลย เพราะเขาไม่มีข้อมูลพอ
ทางมหาวิทยาลัยมหิดลบอกเพียงว่าคุณลองใช้จุลินทรีย์ในการหมัก
เราก็ไม่รู้ว่าจะหมักอย่างไร มีวิธีการบอกไหม ก็ไม่มี
จึงเข้าไปค้นข้อมูลในเวบไซต์"
พบว่ามีวิธีการสกัดน้ำมันมะพร้าว 3
แบบ คือ วิธีการบีบ ด้วยการนำมะพร้าวไปอบ ก่อนจะนำมาเข้าเครื่องไฮโดรลิก
ซึ่งเมืองไทยเริ่มนำมาใช้มากขึ้น, วิธีการหมัก เป็นกรรมวิธีแบบชาวบ้าน
ด้วยการนำมะพร้าวไปคั้นกับน้ำอุ่นให้ได้กะทิใส่ภาชนะใสทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง
ให้เกิดการแยกชั้นน้ำมัน และวิธีการเหวี่ยง
ซึ่งต้องเครื่องจักรในการเหวี่ยงเพื่อแยกชั้นน้ำมัน
ในระดับความเร็วและอุณหภูมิที่พอเหมาะจึงจะได้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์
ที่ยังคงคุณค่าทางธรรมชาติไว้ได้ โดยเฉพาะ กรด ลอริก เอซิด (Lauric acid)
ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดเดียวกับที่อยู่ในน้ำนมมารดา
มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
จุดที่ทำให้กับน้ำมันมะพร้าวต่างจากน้ำมันพืชชนิดอื่น
แต่เป็นวิธีที่ต้องใช้เงินลงทุนหลักแสนบาท
กระตุ้นลูกค้าผ่านสื่อออนไลน์
หนทาง "ประหยัดงบ...คุ้มค่าสูง"
นอกเหนือจากการศึกษากรรมวิธีการผลิตควบคู่กับการลงพื้นที่ศึกษาแหล่งปลูกมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ด้านการตลาดเธอมองว่าการสัมผัสผู้บริโภคโดยตรงเป็นช่องทางที่จะทำให้เธอเรียนรู้ความต้องการตลาดที่แท้จริงได้
"เมื่อได้ข้อมูลมาก็เริ่มทำผลิตภัณฑ์
และลองนำมาเปิดตัวในงานแสดงสินค้าที่ศูนย์สิริกิติ์
เพื่อดูว่าจะขายได้หรือไม่ มีตลาดไหม ได้รับความสนใจแค่ไหน
ปรากฎว่าลูกค้าตอบรับดีมาก มีคนชอบ จึงเริ่มจุดประกายให้ทำจริงจัง
ทำเวบไซต์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว"
"กระทั่งเริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้นและอาจารย์หลายๆ
ท่านออกมาพูดอาทิ ดร. ณรงค์ โฉมเฉลามีการวิจัยรองรับ
ทำให้ตลาดเมืองไทยเริ่มได้รับความสนใจและมีการสนับสนุนเพิ่มขึ้น
ทำให้คนเริ่มรู้ ภูมิดินมากขึ้น
จึงมองว่าน่าจะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้น่าใช้มากขึ้น
ให้ดูแตกต่างจากผลิตภัณฑ์โอท็อป"
ในช่วงเวลาเดียวกันตนเองก็ทำตลาดควบคู่ไปด้วย
ด้านหนึ่งด้วยการออกบูธในงานแสดงสินค้าที่ต่างๆ อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง
อีกด้านหนึ่งเลือกที่จะเดินหน้าเข้าหาช่องทางจำหน่ายร่วมสมัย (Modern
Trade) แม้จะเป็นสินค้าใหม่คนยังนิยมน้อย
แต่ความพยายามทำให้ได้พื้นที่วางสินค้าในห้างสรรพสินค้าที่มีตัวเลือกหลากหลาย
"ด้านการตลาดติดต่อกับท็อป
อยู่นานหลายเดือนเขาไม่สนใจ ด้วยเหตุผลว่าขณะนั้นไม่มีมุมสินค้าโอท็อป
แต่ก็ไม่ละความพยายาม เปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ไปบ่อยๆ
กระทั่งฝ่ายคัดเลือกสินค้าเห็นเราตื้อเหลือเกิน
เขาก็แนะนำให้ปรับบรรจุภัณฑ์มาใหม่ ให้ดูดีหน่อยเชิงอุตสาหกรรมหน่อย
เปลี่ยนเป็นหัวปั๊ม ให้โอกาสทดลองวางเฉพาะ ท็อป มาร์เก็ตเพรส 8
สาขาในระยะเวลา 6 เดือนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย"
"เวลาเดียวกันอาศัยสื่ออินเทอร์เน็ต
ยิงอีเมล์, จัดทำเวบไซต์ พูดคุยกับลูกค้า
เป็นการกระจายการรับรู้ของลูกค้าให้มากขึ้น
เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสามารถไปหาซื้อสินค้าได้ที่ท็อป ปรากฎว่า 6
เดือนผ่านไป ทั้งที่มีสินค้าวางจำหน่ายเพียงแถวเดียว สาขาละ 8 ชิ้น
ลูกค้าก็ยังมาหยิบไปใช้แสดงว่าโอกาสทางการตลาดเป็นไปได้"
ปัจจุบัน
"ภูมิดิน"
เข้าสู่ระบบการทำธุรกิจเต็มรูปแบบที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของการเข้าห้างเฉกเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ
โดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือน้ำมันมะพร้าวขนาดบรรจุ 100และ 250
มิลลิกรัมเป็นตัวยืนด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายและความนิยมของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนด
"ตอนนี้นำเฉพาะสินค้า 2 รายการในขนาด 100 และ 250 มิลลิกรัม
เข้าสู่ห้าง ลูกค้าเริ่มรับรู้มากขึ้น
เนื่องจากค่าแรกเข้าของท็อปค่อนข้างสูงค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท
การที่เราจะนำสินค้าตัวอื่นอาทิ สบู่ แชมพู เรากลัวว่าจะยังไม่เหมาะสม
เนื่องจากมีคู่แข่งเยอะ แต่น้ำมันมะพร้าวที่จำหน่ายในห้าง
เราไม่มีคู่แข่งจึงขอเลือกที่จะลงเฉพาะ 2 ตัวนี้ก่อน"
"ที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้
เพราะมีการทำตลาดผ่านช่องทางอิเลคทรอนิกส์เมล์ ซึ่งไม่ต้องเสียเงิน
แต่ต้องศึกษา เมื่อเรามีเงินทุนในการจะโฆษณาไม่มาก
ไม่มีช่องทางที่จะผ่านสื่อสาธารณะ เราต้องเลือกวิธีที่เสียเงินน้อย
แต่ได้ประโยชน์และทำให้มีคนรู้จักมากเพราะสื่อนี้
เป็นช่องทางที่ลูกค้าได้พูดคุยกันเอง
ได้พูดคุยกับเราทำให้รู้ได้โดยตรงว่าเมื่อลูกค้าซื้อไปชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
โดยที่ตนเองจะเข้าไปตอบเรื่อยๆ
เมื่อลูกค้าคุ้นเคยกับสินค้าและความสามารถของบริษัทมากขึ้น
จะช่วยแนะนำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบที่มีน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนประกอบหลักตามความต้องการของลูกค้าที่นำเสนอมา"
ที่มา..หนังสือพิมพ์บิสิเนสไทยฉบับวนที่14-20ส.ค.2549