สรุปการบรรยายประชุมวิชาการกรมพัฒน์ (วันพุธ)
เรื่อง "บทบาทของนำมันมะพร้าวต่อสุขภาพ และความงาม"
โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 เวลา 10.00-12.00 น.
ณ ห้องประชุมเบญจกูล กรมพัฒน์ฯ
มะพร้าว เป็นพืชพื้นเมืองของไทย
ซึ่งบรรพบุรุษได้นำมะพร้าวมาใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้น
จนมะพร้าวได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้สารพัดประโยชน์ และเป็นพฤกษาชีวิน หรือ Tree
of life เนื่องจากเป็นที่มาของปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม
ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย มาตั้งแต่โบราณกาล
โดยที่คนไทยไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ
แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
น้ำมันมะพร้าวและกะทิซึ่งเป็นไขมันประเภทอิ่มตัว (saturated fat)
ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ เพราะมีคอเลสเตอรอลสูง
และเมื่อบริโภคเข้าไป
ร่างกายก็ไปเปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสโลหิต
อันเป็นสาเหตุของการอุดตันของหลอดเลือดทำให้หัวใจวายเพราะขาดเลือด
จึงมีการรณรงค์ให้หันไปบริโภคน้ำมันพืชที่ ไม่อิ่มตัว(unsaturated fat) แทน
เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด
เป็นต้น
แต่ในปัจจุบันได้มีรายงานการวิจัยซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ตีพิมพ์ซึ่งชี้ให้เห็นว่า
น้ำมันมะพร้าวที่เคยถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของโรคหัวใจนั้นไม่เป็นความจริง
เพราะผลการวิจัยสรุปได้ว่า
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุดในโลก
แต่น้ำมันที่ไม่อิ่มตัวทั้งหลายกลับเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น
โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคข้อเสื่อมและโรคอื่นๆ
ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร เช่น
คนอเมริกันกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
มีน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนดซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายชนิด
เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากทุกคนพากันบริโภคน้ำมันถั่วเหลือง
และน้ำมันไม่อิ่มตัวชนิดอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดมาเป็นเวลานาน
ด้วยเหตุนี้จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับน้ำมันมะพร้าวเพราะมีประโยชน์ทั้งในแง่ต่อสุขภาพและความงาม
ซึ่งถ้าย้อนไปในยุคสมัยบรรพบุรุษของไทย อาหารไทยทั้งคาวและหวานหลายชนิด
ต้องใช้กะทิหรือน้ำมันมะพร้าวเป็นเครื่องปรุง
นอกจากนั้นยังใช้บำรุงสุขภาพและความงาม เช่น
ใช้น้ำมันมะพร้าวทานวดตัวเพื่อรักษาโรคกระดูก ปวดเมื่อย
และรักษาผิวไม่ให้กร้านแดดและเหี่ยวย่น
ตลอดจนใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมผมให้ดกดำเป็นเงางาม
แต่คนสมัยใหม่กลับพึ่งพาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น อาหารเสริม เครื่องสำอาง
ยากันแดด ครีม โลชั่น ซึ่งบางชนิดกลับเป็นผลเสียต่อสุขภาพ
และความงามของผู้บริโภคอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น
ชนชาติของประเทศทวีปเอเชีย เช่น
ศรีสังกา อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
ซึ่งบริโภคมะพร้าวเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่ง
โดยใช้กะทิหรือน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนประกอบของอาหาร
คนกลุ่มนี้ก็มีสุขภาพแข็งแรง และไม่ค่อยมีคนอ้วนหรือเป็นโรคมะเร็ง
โรคเบาหวาน และโรคหัวใจเป็นจำนวนมากเหมือนกับพวกชาวตะวันตก
และในด้านความงามก็เช่นเดียวกัน
คนพื้นเมืองในประเทศเหล่านี้แม้ว่าบางเชื้อชาติจะมีผิวคล้ำแต่มีผิวที่เนียนไม่แตกลายหรือเหี่ยวย่น
แต่ผิวพรรณกลับดูอ่อนกว่าวัย
เส้นผมสลวยดกดำเป็นเงางามอันเนื่องมาจากใช้น้ำมันมะพร้าวมาทาผิว
และชโลมเส้นผมนั่นเอง
ประเภทของน้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามกระบวนการผลิตดังนี้
1. น้ำมันมะพร้าว RBD
สกัดได้จากเนื้อมะพร้าวห้าวโดยการบีบ หรือใช้ตัวทำละลาย ผ่านความร้อนสูง
และขบวนการทางเคมี RBD คือการทำให้บริสุทธิ์ (refining) ฟอกสี (bleaching)
และกำจัดกลิ่น (deodorization) หลังจากที่สกัดได้
เพื่อให้เหมาะสำหรับการบริโภค ได้น้ำมันสีเหลืองอ่อนไม่มีกลิ่นและรส
ปราศจากวิตามินอี (เพราะถูกขจัดออกไปโดยขบวนการทางเคมี)
มีปริมาณกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ไม่เกิน 0.1 %
ปัจจุบันไม่ค่อยมีจำหน่าย
เพราะโรงงานสกัดน้ำมันมะพร้าวประเภทนี้ส่วนใหญ่เลิกดำเนินกิจการไปนานแล้ว
2. น้ำมันมะพร้าวบีบเย็น (cold-pressed coconut oil)
โดยขบวนการบีบไม่ผ่านความร้อนสูง
ผลิตจากเนื้อมะพร้าวสดเป็นน้ำมันมะพร้าวที่บริสุทธิ์ที่สุด สีใสเหมือนน้ำ
มีวิตามินอี และไม่ผ่านขบวนการเติมออกซิเจน (oxidation) มีค่า peroxide
และกรดไขมันอิสระต่ำมีกลิ่นมะพร้าวอย่างอ่อน ๆ ถึงแรง
(ขึ้นอยู่กับขบวนการการผลิต) มีความชื้นไม่เกิน 0.1 %
เรียกน้ำมันมะพร้าวชนิดนี้ว่า น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (Virgin Coconut Oil)
เป็นน้ำมันที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือในครัวเรือน
เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันเป็นน้ำมันมะพร้าวประเภทพรหมจรรย์
จึงขออธิบายถึงองค์ประกอบเฉพาะของน้ำมันประเภทนี้
ซึ่งมีส่วนทำให้น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันพืชชนิดเดียวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
และความงามของมนุษย์มากที่สุดในบรรดาน้ำมันพืชทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (Virgin Coconut Oil)
ส่วนประกอบของน้ำมันมะพร้าวมีสารที่มีลักษณะเด่น ๆ ดังนี้
1. กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acids)
น้ำมันมะพร้าว
ประกอบด้วยกรดไขมันที่อิ่มตัว กว่า 90 %
อะตอมของธาตุคาร์บอนของกรดไขมันที่อิ่มตัวจะต่อกันเป็นเส้น (chain)
โดยมีพันธะเดี่ยว (single bond) จับกันเองเป็นเส้นยาวตามจำนวนของคาร์บอน
แต่ละอะตอมของคาร์บอนจะมีไฮโดรเจนติดอยู่ 2 ตัว
เนื่องจากแต่ละอะตอมของคาร์บอนไม่สามารถรับไฮโดรเจนได้อีกเพราะไม่มีพันธะว่าง
จึงเรียกน้ำมันที่มีกรดไขมันประเภทนี้ว่า “น้ำมันอิ่มตัว”
กรดไขมันอิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวส่วนใหญ่ มีจำนวนอะตอมของคาร์บอน 8 – 14 ตัว
กรดไขมันที่สำคัญได้แก่ กรด คาปริก (carpic acid – C10) กรดลอริก (Lauric
acid – C12) และกรดไมริสติก (myristic acid – C14)
ทำให้โมเลกุลมีความยาวของเส้น (chain) ขนาดปานกลาง
นอกจากนี้ น้ำมันมะพร้าวยังประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) แต่มีเพียง 9 % ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว
(monounsaturated fatty acid) คือ กรดไขมันที่มีอะตอมของคาร์บอน 1 ตัว
ไม่มีไฮโดรเจน 2 ตัวมาจับ จึงต้องจับคู่กันเองด้วยพันธะคู่ (double bond)
จึงเป็น กรดไขมันที่มีพันธะคู่เพียงหนึ่งคู่
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน
(polyunsaturated fatty acid) คือ กรดไขมันที่มีพันธะคู่มากกว่า 1 คู่
ส่วนใหญ่กรดไขมันไม่อิ่มตัวจะมีจำนวนอะตอมของคาร์บอนมาก
จึงทำให้โมเลกุลมีความยาวมาก เช่น กรดลินโนเลอิก (linoleic acid – C18)
2. กรดลอริก (lauric acid)
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันจากพืชชนิดเดียวในโลกที่มีกรดลอริก
อยู่ในปริมาณที่สูงมาก ประมาณ48 – 53 % และกรดลอริกนี้เอง
ที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติพิเศษในการเสริมสุขภาพและ
ความงามของมนุษย์ น้ำมันมะพร้าวยังมีกรดคาปริก (capric acid)
ซึ่งแม้ว่าจะมีน้อยกว่ากรดลอริก คือ มีเพียง 6-7 %
แต่ก็ช่วยเสริมประสิทธิภาพของกรดลอริก
องค์ประกอบของกรดไขมันของน้ำมันพืชบางชนิด
|
Coconut Oil |
Palm Kernel Oil |
Palm Oil |
Olive Oil |
Soybean Oil |
A. Saturated |
|
|
|
|
|
C6:0 Caproic |
0.50 |
0.30 |
- |
- |
- |
C8:0 Caprylic |
8.00 |
3.90 |
- |
- |
- |
C10:0 Capric |
7.00 |
4.00 |
- |
- |
- |
C12:0 Lauric |
48.00 |
49.60 |
0.30 |
- |
|
C14:0 Myristic |
17.00 |
16.00 |
1.10 |
- |
0.10 |
C16:0 Palmitic |
9.00 |
8.00 |
45.20 |
14.00 |
10.50 |
C18:0 Stearic |
2.00 |
2.40 |
4.70 |
2.00 |
3.20 |
C20:0 Arachidic |
0.10 |
0.10 |
0.20 |
- |
0.20 |
B. Unsaturated |
|
|
|
|
|
C16:1 Palmitoleic |
0.10 |
- |
- |
1.00 |
- |
C18:1 Oleic |
6.00 |
13.70 |
38.8 |
71.00 |
22.30 |
C18:2 Linoleic |
2.30 |
2.00 |
9.40 |
10.00 |
54.50 |
C18:3 Linoleic |
- |
- |
0.30 |
0.80 |
8.30 |
C20:4 Arachidonic |
- |
- |
- |
- |
0.90 |
% Unsaturated |
8.40 |
15.70 |
48.50 |
82.80 |
90.80 |
3. วิตามินอี (vitamin E)
น้ำมันมะพร้าวที่ไม่ผ่านขบวนการ RBD
ยังคงมีวิตามินอีเหลืออยู่
และก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวโดดเด่นกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ
บทบาททางสรีรวิทยาของน้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันพืชที่มีองค์ประกอบที่แตกต่างไปจากน้ำมันพืชชนิดอื่น
ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว
และแต่ละองค์ประกอบก็มีบทบาททางสรีรวิทยาที่เสริมให้น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพและความงามของผู้บริโภค
ดังคำอธิบายต่อไปนี้
1. ความอิ่มตัว
เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยกรดไขมันที่อิ่มตัวโดยที่พันธะ
(bond) ที่จับกันระหว่างอะตอมของคาร์บอนเป็นพันธะเดี่ยว (single bond)
ทำให้มีความเสถียรหรืออยู่ตัว (stability)
สูงจึงไม่ถูกอะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจนเข้าไปแทรก ซึ่งเรียกว่า
hydrogenation และ oxidation ได้ง่าย ๆ และ
ไม่มีกลิ่นหืนเหมือนน้ำมันไม่อิ่มตัวโดยเฉพาะพวกที่เป็นน้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน
(polyunsaturated oil)
ซึ่งมีพันธะคู่หลายตำแหน่งเมื่อถูกความร้อนสูงจะทำให้เกิดเป็นเกิดเป็น
trans fatty acids ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดทำให้เกิดผลร้ายต่อร่างกายมากมาย
เช่นทำลาย เยื่อหุ้มเซลล์ (membrane)
อันเป็นผลทำให้เซลล์อ่อนแอจนเชื้อโรคและสารพิษเข้าไปได้สะดวก
ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
เปลี่ยนแปลงกลไกของร่างกายในการขจัดคอเลสเตอรอลโดยการขัดขวางการเปลี่ยนไปเป็นพลังงานในตับ
จึงทำให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นในกระแสโลหิต
ลดปริมาณและคุณภาพของนมน้ำเหลืองของมารดา เพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวาน
ลดปริมาณของฮอร์โมนเทสโตสเตอโรล ในเพศชาย เป็นต้น
2. กรดไขมันขนาดกลาง
การที่กรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวที่โมเลกุลขนาดกลาง มีส่วนอย่างมากที่ทำให้มีคุณสมบัติเป็นเลิศ ดังจะเห็นได้จากกรณีดังต่อไปนี้
2.1 เปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว
: ร่างกายของมนุษย์สามารถเปลี่ยนน้ำมันมะพร้าวให้เป็นพลังงานอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากส่วนใหญ่ของกรดไขมันของน้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลขนาดกลาง (C8 – C14)
เมื่อเราบริโภคเข้าไปมันจะผ่านจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้
แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ตับอย่างรวดเร็ว (ภายในหนึ่งชั่วโมง)
ทำให้ไม่มีไขมันเหลือสะสมในร่างกาย ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 แสดงความแตกต่างของโมเลกุลไขมันในการเปลี่ยนเป็นพลังงาน
2.2 เพิ่มอัตราเมตาบอลิซึม :
นอกจากจะเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างรวดเร็วดังได้กล่าวมาแล้ว
น้ำมันมะพร้าวยังไปเร่งอัตราการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน หรือเมตาบอลิซึม
(metabolism) เพราะมันมีผลทำให้เกิดความร้อนสูง (thermogenesis)
โดยไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานเร็วขึ้น
คล้ายกับบุคคลประเภทไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroid)
ที่ต่อมไทรอยด์ทำงานในอัตราที่สูงกว่าคนธรรมดา บุคคลพวกนี้จึงใช้พลังงานมาก
ทำให้เป็นคนกระฉับกระเฉง (active) และไม่อ้วน
เพราะน้ำมันมะพร้าวที่บริโภคเข้าไปถูกเผาผลาญเป็นพลังงานหมดไม่สะสมเป็นไขมันในร่างกาย
ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 แสดงการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน
2.3 ช่วยลดน้ำหนัก :
การบริโภคน้ำมันมะพร้าว นอกจากจะไม่ทำให้อ้วนแล้ว
ยังสามารถลดความอ้วนจากผลของการเกิดความร้อนสูงในร่างกาย
โดยการไปนำไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ออกมาใช้เป็นพลังงาน ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวจึงช่วยลดความอ้วนได้
จนมีคำที่ว่า “Eat Fat – Look Thin”
3. กรดลอริกและโมโนลอริก
น้ำมันมะพร้าวมีกรดลอริก (lauric acid)
อยู่ประมาณ 50 % กรดนี้
มีส่วนที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวดีเด่นกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ
เพราะมีความสามารถพิเศษ คือ
3.1 สร้างภูมิคุ้มกัน :
เมื่อเราบริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไปในร่างกาย
กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวจะเปลี่ยนเป็นโมโนกลีเซอไรด์ (monoglyceride)
ที่มีชื่อว่า โมโนลอริน (monolaurin)
ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่อยู่ในน้ำนมมารดา
ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารกในระยะ 6 เดือนแรก
ที่ร่างกายยังไม่สร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค
3.2 ฆ่าเชื้อโรค :
โมโนลอรินเป็นสารปฏิชีวนะที่ทำลายเชื้อโรคทุกชนิด
ที่ดีกว่ายาปฏิชีวนะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อรา ยีสต์ โปรโตซัว และไวรัส ไวรัสบางชนิด ที่ยาปฏิชีวนะทั่วไป
ทำลายไม่ได้เนื่องจากมีเกราะที่เป็นไขมันห่อหุ้ม (lipid-coated membrane)
แต่เกราะนี้ก็จะถูกละลายโดยน้ำมันมะพร้าวเพื่อเปิดโอกาสให้โมโนลอรินเข้าไปฆ่าเชื้อโรค
สารปฏิชีวนะในน้ำมันมะพร้าวไม่เป็นพิษต่อมนุษย์
และจะถูกสร้างขึ้นในร่างกายของมนุษย์เมื่อบริโภคอาหารที่มีกรดลอริก
อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้
4. กรดคาปริกและโมโนคาปริน
แม้ว่าจะมีอยู่เพียง 6-7 % แต่กรดคาปริก
(capric acid) ก็ช่วยเสริมประสิทธิภาพของโมโนลอริน
โดยการเปลี่ยนเป็นสารโมโนคาปริน (monocaprin)
เมื่อน้ำมันมะพร้าวถูกบริโภคเข้าไปในร่างกาย
ซึ่งมีฤทธิ์เช่นเดียวกันกับโมโนลอริน
ทั้งนี้ก็เพราะประสิทธิภาพของการทำงานของโมโนลอริน
และโมโนคาปรินขึ้นอยู่กับปริมาณที่มีอยู่
5. วิตามิน
น้ำมันมะพร้าว
ที่ผลิตจากมะพร้าวแห้งที่เก็บไว้นาน ๆ จะมีจุลินทรีย์ปนเปื้อน
ตลอดจนถูกแสงแดดและความร้อน เมื่อนำไปสกัดน้ำมันมะพร้าวโดยวิธีหีบหรือ
การใช้ตัวทำละลาย จึงสูญเสียคุณสมบัติที่ดี โดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้มันไม่หืน
และเมื่อถูกนำไปผ่านขบวนการทางเคมี RBD
ก่อนที่จะนำไปบริโภคจะสูญเสียวิตามินอีไป แต่ก็ยังเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ
ตราบใดที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงทางเคมีโดยขบวนการเติมไฮโดรเจนหรือเติมสารกันเสีย
(preservatives) เพื่อรักษาสภาพให้คงทนและไม่หืน
แต่น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ ซึ่งสกัดได้โดยวิธีหมัก
หรือวิธีบีบเย็นไม่ใช้อุณหภูมิสูง และไม่ผ่านขบวนการทางเคมี
จะยังคงมีวิตามินอีเหลืออยู่ วิตามินอีในน้ำมันมะพร้าว
มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
5.1 ต่อต้านอนุมูลอิสระ :
วิตามินอี ทำหน้าที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)
โดยการป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกเติมออกซิเจน และเป็นตัวต่อต้านอนุมูลอิสระ
(free radicals) ซึ่งเกิดจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม อาหารและเครื่องดื่ม
การสูบบุหรี่ รังสี ความเครียด ฯลฯ
โดยปกติร่างกายของมนุษย์มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระคอยทำลายอนุมูลอิสระอยู่แล้ว
แต่เมื่อบริโภคน้ำมันพืชประเภทไม่อิ่มตัวซึ่งถูกเติมออกซิเจน (oxidized)
ได้ง่าย ๆ ตั้งแต่เริ่มสกัด ตลอดจนระหว่างการขนส่ง การวางจำหน่าย
และการเก็บรักษาก่อนบริโภค จึงเกิดเป็นอนุมูลอิสระได้ง่าย
อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นน่าจะไปลบล้างประสิทธิภาพ (neutralize)
ของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในร่างกาย
ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดผลเสียแก่เซลล์และเนื้อเยื่อ
เนื่องจากอนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่เปลี่ยนสภาพโดยสูญเสียอีเล็กตรอน
(electron) จึงไปจับกับโมเลกุลที่อยู่ใกล้เคียงต่อไปเรื่อย ๆ
เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ เป็นผลทำให้เซลล์ผิดปกติไป เช่น
เยื่อบุเซลล์ฉีกขาด เปลี่ยนสารพันธุกรรมใน นิวเครียส เกิดการกลายพันธุ์
ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อม (degenerative diseases) เช่น โรคหัวใจ
มะเร็ง ไขข้ออักเสบ เบาหวาน โรคภูมิแพ้ ชราภาพก่อนวัย เป็นต้น
5.2 สารโทโคไทรอีนอล (tocotrienol)
วิตามินอีในน้ำมันมะพร้าว มีสารโทโคไทรอีนอล
ซึ่งเป็นรูปของวิตามินอีที่มีอานุภาพสูงกว่าสารโทโคเฟอรอล (tocopherol)
ซึ่งอยู่ในวิตามินอีทั่วไป โดยเฉพาะที่มีอยู่ในเครื่องสำอางรักษาผิวถึง
40-60 เท่า
ด้วยเหตุนี้น้ำมันมะพร้าวจึงต่อต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทของน้ำมันมะพร้าวต่อสุขภาพ
สุขภาพที่ดีของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับสถานภาพ 4 ประการ คือ
1. การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
จากบทบาททางสรีรวิทยาของน้ำมันมะพร้าวที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ทำให้ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวมีสุขภาพดี แข็งแรง
เพราะได้พลังงานทันทีที่บริโภคน้ำมันมะพร้าว นอกจากนั้น
น้ำมันมะพร้าวยังมีคุณทางอาหาร โดยเฉพาะวิตามิน และเกลือแร่
ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
อีกทั้งยังช่วยเพิ่มคุณค่าของอาหารโดยการเพิ่มการดูดวิตามิน เกลือแร่
และกรดอะมิโน เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก จึงถูกย่อยง่าย
และเคลื่อนที่เร็วไปตามของเหลวในร่างกาย
จึงเป็นที่นิยมใช้หุงต้มอาหารสำหรับคนไข้ที่มีปัญหาการย่อยไขมัน
และยังใช้ในสูตรน้ำนม เพื่อให้ไขมันที่จำเป็นแก่เด็กทารก
และช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนากระดูก
2. ช่วยให้ปลอดจากโรคไม่ติดเชื้อ
โรคไม่ติดเชื้อที่ น้ำมันมะพร้าวมีส่วนในการลดอัตราการเกิด ได้แก่
2.1 โรคหัวใจ :
จากผลการวิเคราะห์พบว่า น้ำมันมะพร้าวมีคอเลสเตอรอลน้อยมาก เพราะมีเพียง 14
ส่วนในล้านซึ่งน้อยกว่าน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งมี 28 ส่วน และที่สำคัญคือ
เมื่อบริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไป ในร่างกาย
ก็ไม่ได้เปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลในกระแสโลหิต
อีกทั้งยังไม่ได้ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเหมือนกับน้ำมันพืชประเภทไม่อิ่มตัว
เช่นน้ำมันถั่วเหลืองที่ถูกเติมไฮโดรเจน (hydrogenate) ในขบวนการผลิต
และถูกเติมออกซิเจน (oxidize) ระหว่างเดินทางก่อนถูกบริโภค จนเกิดเป็นtrans
fatty acids ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดลิ่มเลือด และไปอุดตันหลอดเลือด
นอกจากนั้นน้ำมันมะพร้าวยังมีวิตามินอีที่ช่วยขยายหลอดเลือดและป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
นักโภชนาการสมัยใหม่จึงสรุปว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยทำให้หัวใจมีสุขภาพดี
เพราะเป็นหนึ่งในสองชนิดของน้ำมันบริโภค ซึ่งช่วยลดความหนืด (stickiness)
ของเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
น้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยโคเลสเตอรอลจริงหรือ?
ชนิดของน้ำมัน |
ปริมาณคอเรสเตอรอล (ส่วนต่อล้าน) |
น้ำมันมะพร้าว |
14 |
น้ำมันปาล์ม |
18 |
น้ำมันถั่วเหลือง |
28 |
น้ำมันข้าวโพด |
50 |
เนยเหลว |
3,150 |
น้ำมันหมู |
3,500 |
2.2 โรคมะเร็ง : น้ำมันมะพร้าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง ด้วยกลไก 2 วิธี คือ
(1) เนื่องจากเป็นน้ำมันประเภทอิ่มตัวจึงไม่ถูกเติมไฮโดรเจน (hydrogenate) และแตกตัวเมื่อถูกกับอุณหภูมิสูง
(2)
มีวิตามินอีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์ของยีน
เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง และการทำร้ายเซลล์ การใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมตัว
ก็ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ดีกว่ายาทากันแดดราคาแพง
2.3 โรคอ้วน :
โรคอ้วนนั้นมีความสัมพันธ์กับสภาพต่าง ๆ เช่น
การมีไขมันในเลือดสูงเป็นโรคเบาหวานมีความดันโลหิตสูง
เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคข้ออักเสบ ภาวะหยุดหายใจ ขณะหลับ ฯลฯ
การบริโภคน้ำมันมะพร้าวจะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง (ในขบวนการ
thermogenesis) ทำให้ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญอาหาร หรือเมตาบอลิซึม
(metabolism) สูงเกิดเป็นพลังงานสำหรับใช้ในการดำรงชีวิต
อีกทั้งยังช่วยทำลายไขมันที่ร่างกายสะสมอยู่ นำไปใช้เป็นพลังงาน ดังนั้น
ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำจึงไม่อ้วน
2.4 โรคเบาหวาน :
ผลพลอยได้ของการเพิ่มอัตราการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานจากการบริโภคน้ำมันมะพร้าวทำให้ร่างกายไม่สะสมน้ำตาล
เพราะถูกใช้ไปเป็นพลังงานหมด
อีกทั้งยังไม่ทำให้ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหารที่เป็นแป้งหรือน้ำตาล
จึงช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานไปได้โดยปริยาย
2.5 โรคปวดเมื่อย โรคชราภาพก่อนวัย โรคมะเร็งผิวหนัง และโรคกระดูก :
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนังได้ดี
เพราะมีขนาดของโมเลกุลเล็กจึงนิยมใช้นวดตัวให้หายปวดเมื่อย
และผ่อนคลายความเครียด
อีกทั้งยังปกป้องการทำลายของแสงอัลตราไวโอเลตที่ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นแก่ก่อนวัย
และเป็นมะเร็งผิวหนัง ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกระดูกให้แข็งแรง
แพทย์แผนไทยจึงนิยมนำน้ำมันมะพร้าว
มาประกอบเป็นสูตรยาแผนโบราณในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูก
อันเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุ
3. ช่วยให้ร่างกายปลอดจากโรคติดเชื้อ
จุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคเป็นสาเหตุของโรคของมนุษย์มากมายเหลือคณานับ
แต่ก็แปลกที่เด็กทารกแรกคลอดที่ดูดน้ำนมมารดาเป็นประจำมักไม่ค่อยเป็นโรคเหล่านี้
ทั้งนี้ก็เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากน้ำนมมารดา
ได้มีการค้นพบว่าสารสำคัญในนมน้ำเหลือง (cholostum) ของมารดานี้ คือ
กรดลอริก ซึ่งเมื่อเข้าไป ในร่างกายก็เปลี่ยนไปเป็นสารโมโนลอริน
ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะนั่นเอง
ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวพบว่ามีกรดลอริกสูงมากถึง 48-53%
ซึ่งมากกว่าในน้ำนมมารดามาก
ในปัจจุบันวงการแพทย์สมัยใหม่ได้แนะนำให้ประชาชนกินยาเม็ดที่มีโมโนลอรินเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค
4. การรักษาโรค
จากการที่น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อ
และสามารถถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้ดี และรวดเร็ว
ตำราอายุรเวทของอินเดียจึงได้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคมาไม่ต่ำกว่า 4,000
ปี
แพทย์แผนไทยก็ได้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคทั้งภายในและภายนอกมาเป็นเวลาช้านาน
เช่น ในตำราพระโอสถพระนารายณ์
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาได้ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยานวดแก้ปวดเมื่อย
ยารักษาโรคกระดูก ยารักษาแผลเน่าเปื่อย
ส่วนตำราแพทย์แผนไทยในปัจจุบันก็แนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคกระดูกที่เกิดจากอุบัติเหตุ
รักษา เม็ดผดผื่นคัน ลบริ้วรอย แผลฟกช้ำ ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ
และป้องกันแสงแดด และความร้อน แม้กระทั่งแพทย์แผนปัจจุบันชาวตะวันตก
ก็ให้คนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารหรือการดูดซึมอาหาร
เด็กทารกรวมทั้งเด็กเล็กที่ไม่สามารถย่อยไขมัน
กินน้ำมันมะพร้าวเป็นยารักษาโรค
ศักยภาพของน้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคมีดังนี้
4.1 โรคที่เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ
เชื้อโรคที่กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวสามารถทำลายได้ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย
เชื้อราและยีสต์ เชื้อโปรโตซัว และเชื้อไวรัส
โมโนลอรินหรือสารปฏิชีวนะในน้ำมันมะพร้าว มีจุดเด่นสองประการ คือ
ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรค
และสามารถฆ่าเชื้อโรคบางชนิดที่มีเกราะไขมันห่อหุ้มเซลล์
ที่ยาปฏิชีวนะธรรมดา ไม่สามารถฆ่าได้ แต่น้ำมันมะพร้าว
สามารถละลายเกราะไขมันนี้ได้ แล้วจึงเข้าไปฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้
เท่าที่ได้มีการวิจัยพบว่า
เชื้อโรคที่มีเกราะไขมันห่อหุ้มนี้เป็นโรคร้ายในปัจจุบันที่รักษายากมาก
เพราะทำลายมันไม่ได้ อย่างดีก็หยุดไม่ให้มันขยายพันธุ์โรคเหล่านี้ เช่น
ไวรัสโรคเอดส์ โรค SARS ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
และกำลังมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล
4.2 โรคผิวหนัง
ผิวหนังที่ถูกอนุมูลอิสระเข้าทำลาย หรือจากการถูกทำร้าย
จนเกิดเป็นแผลที่เชื้อโรคจะเข้าทำลายต่อโมโนลอรินในน้ำมันมะพร้าว
ซึ่งเป็นสารปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้
4.3 รังแคหนังศีรษะ น้ำมันมะพร้าวมีสารปฏิชีวนะที่ทำลายเชื้อโรคที่ทำให้เกิดรังแค หากชโลมผมด้วยน้ำมันมะพร้าวจะช่วยรักษารังแคหนังศีรษะได้
เรียบเรียงโดย
กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
สถาบันการแพทย์แผนไทย